วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

การศึกษาของไทยจากอดีตสู่ยุค 4.0

            วิวัฒนาการการจัดการศึกษาไทย ได้บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยแต่ละยุคแต่ละ
สมัยการศึกษาประวัติและวิวัฒนาการศึกษาของไทยที่ผ่านมา เพื่อที่จะเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการจัดศึกษาของไทยยุคสมัยโบราณ การจัดการศึกษา
สมัยกรุงสุโขทัย การจัดการศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยา การจัดการศึกษาสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
ตอนต้น การจัดการศึกษาของไทยสมัยปฏิรูป ยุคแรกเริ่ม ยุคขยายงาน ยุคแสวงหา ยุคพัฒนา ยุคแห่ง
ความหวัง การจัดการศึกษาเตรียมเข้าสู่สมาคมอาเซียน

แนวคิดการจัดการศึกษาไทยสมัยโบราณ
การศึกษาไทยยุคสมัยโบราณ จัดการศึกษาที่ไม่มีระบบและแบบแผน คือ ไม่มีระบบโรงเรียน และชั้นเรียน วัดเป็นแหล่งให้ความรู้ มีพระภิกษุเป็นผู้สอนเพียงเพื่อประกอบอาชีพ วิชาความรู้ส่วนใหญ่ที่ถ่ายทอดไม่มีการจดบันทึกไว้ ใช้ความสามารถในการท่องจำมากกว่า ซึ่งการจัดการศึกษาสมัยโบราณไม่มีแบบแผนและรูปแบบที่ชัดเจน จึงทำให้การศึกษาไม่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมมากนัก

การจัดการศึกษาไทยสมัยกรุงสุโขทัย
การจัดการศึกษาไทยสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ.1781-1983) การศึกษาที่สำคัญคือ การกำเนิดอักษรไทยครั้งแรกคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สถานที่เรียน 3 แห่งคือ สำนักสงฆ์ต่อมาเป็นวัด อีกแห่งหนึ่งคือ สำนักปราชญ์ราชบัณฑิต และท้ายสุดคือ ราชสำนัก และการจัดแบ่งการศึกษาเป็น 4 องค์คือ
           จริยศึกษา  สอนศีลธรรมจรรยา เน้นหลักพุทธศาสนาแบบหินยาน พระภิกษุเป็นผู้สอน สถานศึกษาที่สำนักสงฆ์หรือวัด เน้นการปฏิบัติ
          พลศึกษา  สอนผู้ชายสำหรับป้องกันตัวใช้ในเวลาศึกสงคราม
          พุทธิศึกษา  ศึกษาจากวัด มีพระภิกษุเป็นผู้สอน การอ่าน เขียน ภาษาไทยภาษาบาลี และวิชาความรู้เบื้องต้น
          หัตถศึกษา  สอนผู้หญิง พ่อแม่ที่มีความรู้ด้านอาชีพ เพื่อเป็นเครื่องมือทำมาหากิน และสืบวงศ์ตระกูล อาทิ งานประดิษฐ์ เย็บปักถักร้อย และทอผ้า

การจัดการศึกษาไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา
การจัดการศึกษาไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893-2310)มีจัตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา มีระบบศักดินา และการจัดการศึกษาที่วัด และบ้าน มีหน้าที่อบรมเด็กนักเรียน อีกทั้งได้ติดต่อกับฝรั่งชาติตะวันตก ค้าขายและเผยแพร่ศาสนา มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ ประดิษฐ์ตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกรับวิชาการแบบยุโรป และแต่งแบบเรียนคือ จินดามณี เล่มแรกของไทย

การจัดการศึกษาสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การจัดการศึกษาสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310-2325) มีการเปลี่ยนแปลงไม่เด่นชัด ชาวบ้านที่มีฐานะดีและข้าราชการ นิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาเล่าเรียนที่วัด และการจัดการศึกษาตอนต้นรัตนโกสินทร์ เริ่มนำวิทยาการใหม่ ๆ จัดพิมพ์ตำราเรียน เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปการศึกษาของไทย

แนวคิดการจัดการศึกษาไทยสมัยปฏิรูป
แนวคิดการปฏิรูปการจัดการศึกษาของไทย เกิดขึ้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และทำให้เกิดระบบโรงเรียนขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งการจัดการศึกษาเดิมอยู่วงจำกัดเฉพาะชาวบ้านที่มีฐานะดีและบุตรข้าราชการ และคนที่ได้รับการศึกษาจึงเป็นคนชั้นสูง ประชาชนโดยทั่วไปขาดโอกาสมากและมีผลจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453)

ยุคแรกเริ่มของการศึกษาไทย: ก้าวแรก
ยุคแรกเริ่มของการศึกษาไทย ก้าวแรก (พ.ศ. 2435-2475) การจัดการศึกษาเป็นรูปแบบที่ชัดเจนคือ “โรงเรียน” และกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่จัดการศึกษา ประกอบกับมีพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับสำหรับราษฎรทุกคนทุกพื้นที่ มุ่งจัดการศึกษาเพื่อรับราชการและการประกอบอาชีพตามที่ตนถนัด เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาให้เป็นระบบสู่รูปแบบที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น
ยุคขยายงานของการศึกษาไทย : ก้าวที่สอง
ยุคขยายงานของการศึกษาไทย ก้าวที่สอง (พ.ศ. 2475-2503) การจัดการศึกษาเป็นการขยายการศึกษาภาคบังคับออกให้กว้างขวางขึ้น ประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม ภายหลังได้มีการเร่งรัดปรับปรุงการศึกษาให้มีความเจริญก้าวหน้าทุก ๆ ด้าน ไปสู่การพัฒนาประเทศที่มุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ยุคแสวงหา: เป็นการแสวงหาแนวทางใหม่ในการจัดการศึกษา
ยุคแสวงหา การจัดการศึกษาในปี พ.ศ.2503-2520 ได้ขยายการศึกษาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลผลักดันให้ประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 1-3 มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ มุ่งพัฒนาคนได้จัดการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึง และขยายการศึกษาทุกระดับให้มีคุณภาพมาตรฐาน ที่ส่งเสริมด้านจริยธรรม คุณธรรม และมีวินัยรวมทั้งสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ อีกทั้งจัดตั้งมหาวิทยาลัยและ ยกฐานะวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ยุคพัฒนา: การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม
ยุคพัฒนา การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม (พ.ศ. 2520-2541) ยุคพัฒนา ที่มีความพยายามเพื่อที่จะนำเอาแนวคิดของนักการศึกษาไทยมาใช้ในการจัดการศึกษาของชาติ โดยนำบริบททางสังคมวัฒนธรรมไทย จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมไทย ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนบริบทของสังคมไทยที่เหมาะสม และแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ 1-6 จัดให้เป็นระบบสากล ขยายโอกาสทางการศึกษาทุกกลุ่ม อุดมศึกษาขยายไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้นทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อเปิดโอกาสทุกคนทุกอาชีพได้มีความรู้กว้างมากยิ่งขึ้น และมีพระราชบัญญัติการศึกษาครั้งแรก ที่สอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

ยุคแห่งความหวัง: การปฏิรูปการศึกษา
ยุคแห่งความหวังการปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน) เปลี่ยนองค์กร เดิม 14 เหลือเพียง 5 องค์กรและตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ปฏิรูป 3 ระยะคือ จัดตั้งศูนย์ปฏิรูปการศึกษา เปลี่ยนสำนักปฏิรูปเป็นสำนักงานโครงการนำร่อง และประกาศเขตพื้นที่การศึกษา อีกทั้งปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา กระจายอำนาจให้สถานศึกษาและหน่วยปฏิบัติมีอิสระ คล่องตัวมากขึ้นประชาชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมจัดการศึกษา ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทุกระดับ และผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้นตามศักยภาพ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งหวังของคนไทยในเรื่องของคุณภาพของคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ ซึ่งเพื่อนำพาประเทศไปสู่สากล

การจัดการศึกษาเตรียมเข้าสู่สมาคมอาเซียน
การจัดการศึกษาเตรียมเข้าสู่สมาคมอาเซียน (พ.ศ.2558) การเตรียมประเทศเข้าสู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ที่เกิดจากผู้นำ 5 ประเทศคือ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ สร้างความตระหนัก หลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เตรียมบุคลากรครูและนักเรียนเพื่อรองรับ และขยายโอกาสทางการศึกษา ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของยุคโลกาภิวัฒน์
     
ทำอย่างไรระบบการศึกษาของไทยยุค 4.0 จะขับเคลื่อน
            ในศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลที่สร้างความเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็วและคลอบคลุมหลายมิติ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักว่ารูปแบบการศึกษาที่ใช้วิธีการแบบก่อนศตวรรษที่ 21 นั้นด้อยประสิทธิภาพ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนของโลกได้อีกต่อไป
             เช่นเดียวกับในสังคมไทยที่กำลังเรียกร้องการจัดการศึกษารูปแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญต่อการอยู่รอดในยุคโลกาภิวัฒน์ ได้แก่ ทัศนคติใฝ่การเรียนรู้ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม รวมถึงความรู้พื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามของภาครัฐ ภาคประชาสังคม มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชนจำนวนหนึ่ง ที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เด็กไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยหมดหวังกับการปฏิรูปการศึกษา  ประเทศไทยจึงต้องการแนวทางปฏิรูปในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยหลักคิดที่ต่างไปจากเดิมและเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
แผนการศึกษาฉบับปัจจุบัน มุ่งให้เด็กเกิดทักษะ 3R และ 8C ดังนี้
3R คือ    Reading (อ่านออก) ,(W)Riting (เขียนได้) , (A)Rithenmatics (คิดเลขเป็น)
8C คือ
  1. Critical Thinking and Problem Solving : มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแก้ไขปัญหาได้
  2. Creativity and Innovation : คิดอย่างสร้างสรรค์ คิดเชิงนวัตกรรม
  3. Collaboration Teamwork and Leadership : ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ  
  4. Communication Information and Media Literacy : ทักษะในการสื่อสารและการรู้เท่าทันสื่อ
  5. Cross-cultural Understanding : ความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม กระบวนการคิดข้ามวัฒนธรรม
  6. Computing and ICT Literacy : ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และการรู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งเยาวชนในยุคปัจจุบันมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีอย่างมากหรือเป็น Native Digital ส่วน คนรุ่นเก่าหรือผู้สูงอายุเปรียบเสมือนเป็น Immigrant Digital แต่เราต้องไม่อายที่จะเรียนรู้แม้ว่าจะสูงอายุแล้วก็ตาม
  7. Career and Learning Skills : ทักษะทางอาชีพ และการเรียนรู้
  8. Compassion : มีคุณธรรม มีเมตตา กรุณา มีระเบียบวินัย
Thailand 4.0 เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในยุค 1.0 เป็นยุคเกษตรกรรม จากนั้นกลายเป็นยุค 2.0 ที่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยงานหรือเป็นยุคของอุตสาหกรรมเบา ในขณะที่ยุค 3.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมหนักและมีการลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในยุค 3.0 ยังมีความเปราะบางต่อสถานการณ์โลก และประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ ดังนั้นจึงนำมาสู่ Thailand 4.0 ที่เน้นที่การแก้ปัญหาให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราจึงต้องพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า New Economy Model มีการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประชาชนสามารถสร้างรายได้ได้ด้วยตนเอง ต้องมีการปฏิรูปทั้งโครงสร้างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ภาคธุรกิจ การเกษตร การศึกษา และแรงงาน จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักรและทรัพยากร เปลี่ยนมาเป็นการผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี  โดยมีการดึง สถาบันวิจัยระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศไทย และมีความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน ให้มากขึ้นที่เรียกว่าประชารัฐ โดยมีเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใน 3-5 ปี
            ในการสร้างโมเดล Thailand 4.0 หรือ "ไทยแลนด์ 4.0" ที่เป็น Value-based Economy นั้น ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ อุตสาหกรรมหลักได้แก่
1. Food, Agriculture & Bio-tech
2. Health, Wellness & Bio-Medical
3. Smart Devices, Robotics & electronics
4. Digital & Embedded Technology
5. Creative, Culture & High Value Service
การศึกษาไทย 1.0 เป็นยุคการศึกษาเพื่อสร้างนักปกครอง เป็นการศึกษาสำหรับชนชั้นสูงในสังคม โดยมีการจัดการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการให้กับบุตรหลานชนชั้นปกครอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นนักปกครองในรุ่นต่อไป การศึกษาในยุคนี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย มีการจัดการศึกษาเฉพาะกลุ่มเท่านั้น รูปแบบการจัดการศึกษาเป็นแบบบอกความรู้จากผู้สอน ถ้าผู้สอนไม่มีอะไรจะสอนแล้ว ถือว่าสำเร็จการศึกษา
การศึกษาไทย 2.0 เป็นยุคแห่งการจัดการศึกษาที่เปิดกว้างขึ้น เพตุจากการจัดการศึกษาในยุค 1.0 นั้น ไม่สามารถผลิตกำลังคนได้ทันต่อความต้องการในการบริหารราชการบ้านเมือง ทำให้ชนชั้นปกครองต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีการศึกษาสำหรับลูกหลานขุนนางชั้นสูง เพื่อผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่ระบบราชการ    ที่นับวันจะขยายขอบเขตงานเพิ่มมากขึ้น ตามความเจริญและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคนั้น รูปแบบการจัดการศึกษาเริ่มมีระบบโรงเรียน แต่ยังเป็นการเรียนแบบบอกความรู้จากผู้สอนอยู่เช่นเดิม
  การศึกษาไทย 3.0 ในยุคนี้เป็นยุคที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเบาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเหตุให้การศึกษายุคนี้ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม เกิดการทำซ้ำบัณฑิตอย่างมโหฬาร เป็นเหตุให้เกิดความตกต่ำของบัณฑิตในทุกระดับ ทุกสถาบันการผลิต โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้นั้น เป็นแบบทางการเหมือนสายพานการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
  การศึกษาไทย 4.0 การศึกษายุคนี้ ควรเป็นการศึกษาเพื่อการสร้างนวัตกรรม เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาเพื่อสังคม ที่คนที่ได้รับการศึกษานั้นต้องหันมาช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง และกว้างขวาง โดยที่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ใด วัตถุประสงค์หนึ่งดังเช่นที่ผ่านมา และการจัดการศึกษาต้องบูรณาการทั้งศาสตร์ ศิลป์ ชีวิต และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อสร้างคนที่สังคมต้องการได้ในทุกมิติ และมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน โดยครูอาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หรือถ้าจำเป็นต้องมีก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทไปอย่างมาก
            อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนาระบบการศึกษาของไทยควรสร้างและพัฒนาคน ให้สามารถค้นหาความรู้ต่างๆ มาปะติดปะต่อและประยุกต์เข้ากับงานที่ทำ สามารถต่อยอดและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ได้ มีเพื่อนฝูงมีการติดต่อประสานงานกันได้นั่นคือ Internet ซึ่งทั้งหมดก็คือคุณสมบัติหลักๆ ของบุคลากรที่ตลาดแรงงานในยุค Industry 4.0 ต้องการ อาทิเช่น ช่วยกันปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในโรงเรียน จากระบบการท่องจำและบรรยายโดยการที่ไม่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง มาเป็นระบบที่สอนให้ผู้เรียนได้หัดคิด หัดทำ สามารถที่จะโต้ตอบด้วยเหตุผลได้ เรียกว่า การคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ยังคงต้องมีกรอบให้เข้าใจถึงการอยู่ร่วมในสังคมด้วย นั่นคือ การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้ 
             เชื่อมโยงกับแนวคิดของการพัฒนาคนต่อว่าประเทศไทยน่าจะมี learning community เพื่อสร้าง ecosystem ที่นำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน โดยสามารถดำเนินการได้ทั้งกลุ่มนักเรียน ครู และผู้ปกครอง เช่น กลุ่มผู้ปกครองอาจมีการพูดคุยปรึกษากัน และเข้ามาช่วยเติมเต็มด้านการเรียนให้กับลูกได้” รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในอนาคตให้เกิดทักษะที่ดีแก่นักเรียน เช่น การแก้ปัญหาซับซ้อน การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถจะกระทำได้  รวมถึงห้องเรียนในอนาคตที่จะเน้นพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคล และควรถูกกำหนดโดยนักเรียนซึ่งเป็นคนอยู่ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ควรเสนอให้มีการปรับกฎระเบียบและนโยบายได้อย่างคล่องตัว โดยสอดคล้องกันทั้งด้านหลักสูตร สื่อการสอน บุคลากร การเงิน การสอบ การประเมินผล และอื่น ๆ ตลอดถึงความมีอิสระในด้านการย่อส่วนการปฏิรูปส่วนกลางมาสู่ปฏิรูประดับพื้นที่ (Education Reform Sandbox) ทำให้โรงเรียนในพื้นที่มีอิสระในการจัดการเรียนการสอน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้บริหารและคณะครูผู้สอน โดยอาจดึงภาคีต่าง ๆ มาช่วยโรงเรียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
การจัดการศึกษาที่ดีควรทบทวนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานรวมทั้งการเชื่อมโยงถึงแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
 ่ส่งเสริมการสร้างความตระหนักและการเข้าใจของสังคมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม รวมทั้งการพัฒนา
ศักยภาพของผู้สอนอย่างต่อเนื่อง " คนมีคุณภาพ นั่นคือ การก้าวที่ดี....ควรก้าวด้วยนโยบายที่เป็นรูปธรรม 
ไม่ใช่นามธรรม ปัญหาและความต้องการทุกระดับ รวมทั้งผู้เรียน ครอบครัวและชุมชน ควรเกิดจากทุกภาค
ส่วนโดยเฉพาะภาคส่วนพื้นที่โดยตรงไม่ใช่เฉพาะส่วนกลาง และควรมุ่งประเด็นการพัฒนาเป้าหมายใน
มิติของคุณภาพและปริมาณในทุกๆระดับการศึกษาให้เกิดความต่อเนื่องโดยอ้างอิงจากระบบรายงานและ
ระบบนิเทศติดตามเยี่ยมเพื่อนำไปสู่กระบวนการศึกษาวิจัยและการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านคน 
สถานที่ สื่อและวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาที่มีและพร้อมใช้ รวมถึงปัจจัยการสนับสนุนจากทุกภาคีเครือ
ข่าย อันจะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาจริงจัง....สุดท้ายผู้เรียนสามารถตอบสนองต่อแรงงานได้อย่าง
เป็นรูปธรรม "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น