วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เทคนิคการเขียนแผนผังความคิด (Mind Map)

Mind map เป็นการนำเอาทฤษฎีที่เกี่ยวกับสมองมา ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยเฉพาะเกี่ยวกับ กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ การเขียนแผนที่ความคิด เกิดจากการใช้ทักษะ ทั้งหมดของสมอง เป็นการทำงานร่วมกันของสมองทั้ง สองซีก คือ สมองซีกซ้ายและซีกขวา 2 สมองซีกขวา จะทำหน้าที่ สังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความงาม ศิลปะ จังหวะ สมองซีกซ้ายจะ ทำหน้าที่ในการ วิเคราะห์ คำ ภาษา สัญลักษณ์ลำดับ ระบบ ความเป็นเหตุเป็นผล ตรรกวิทยา Mind map : ความเป็นมา
ความเป็นมา

              โทนีบูซาน (Tony Buzan) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ เป็นผู้คิดริเริ่ม นำเอาความรู้เรื่องสมองมาปรับใช้กับ การเรียนรู้ของเขา (พ.ศ. 2517) โดยพัฒนาจากการจดบันทึกแบบเดิม ที่จดบันทึกเป็นตัวอักษรเป็นบรรทัด ๆ เป็นแถว ๆ เปลี่ยนมาเป็นบันทึกด้วยคำภาพ สัญลักษณ์แบบแผ่รัศมีออกรอบๆ ศูนย์กลางเหมือน การแตกกิ่งก้านของต้นไม้/ การแตกของ เซลสมอง โดยใช้สีสัน ต่อมาโทนี บูซาน พบว่า วิธีที่เขาใช้นั้นสามารถ นำไปใช้กับกิจกรรมอื่นๆ ทั้งในชีวิตส่วนตัว และชีวิต การงาน เช่น การวางแผน การตัดสินใจ การช่วยจำ การแก้ปัญหา การนำเสนองาน และการเขียนหนังสือ เป็นต้น
อาจารย์ธัญญา ผลอนันต์เป็นผู้นำ ความคิดและวิธีการเขียนแผนที่ความคิด เข้ามาใช้และเผยแพร่ในประเทศไทย ใน ปี พ.ศ. 2541
วัตถุประสงค์ 
            เพื่อเสริมสร้างทักษะในการวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ข้อมูล อันเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ จัดระเบียบความคิด.ให้สืบทอดและยาวไกล

การสร้างผังความคิด (Concept Mapping)




ใช้แสดงการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างความคิดหลัก ความคิดรอง และความคิดย่อยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
ลักษณะการเขียนผังความคิด เทคนิคการคิดคือ นำประเด็นใหญ่ ๆ มาเป็นหลัก แล้วต่อด้วยประเด็นรองในชั้นถัดไป

การสร้าง แผนที่ความคิด หรือ Mind Map

ขั้นตอนการสร้าง Mind Map 
1. เขียน/วาดมโนทัศน์หลักตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ
2. เขียน/วาดมโนทัศน์รองที่สัมพันธ์กับมโนทัศน์หลักไปรอบ ๆ
3. เขียน/วาดมโนทัศน์ย่อยที่สัมพันธ์กับมโนทัศน์รองแตกออกไปเรื่อย ๆ
4. ใช้ภาพหรือสัญลักษณ์สื่อความหมายเป็นตัวแทนความคิดให้มากที่สุด
5. เขียนคำสำคัญ (Key word) บนเส้นและเส้นต้องเชื่อมโยงกัน
6. กรณีใช้สี ทั้งมโนทัศน์รองและย่อยควรเป็นสีเดียวกัน
7. คิดอย่างอิสระมากที่สุดขณะทำ




ข้อควรจำ :  การเขียนคำหลัก หรือข้อความสำคัญของเรื่องไว้กลาง โยงไปยังประเด็นรองรอบ ๆ ตามแต่ว่าจะมีกี่ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

กฏการสร้าง Mind Map
1. เริ่มด้วยภาพสีตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ
2. ใช้ภาพให้มากที่สุดใน Mind Map ของคุณ ตรงไหนที่ใช้ภาพได้ให้ใช้ ก่อนคำ หรือรหัส    เป็นการช่วยการทำงานของสมอง ดึงดูดสายตา และช่วยความจำ
3. ควรเขียนคำบรรจงตัวใหญ่ๆ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ จะช่วยให้เราสามารถประหยัดเวลาได้ เมื่อย้อนกลับไปอ่านอีกครั้ง
4. เขียนคำเหนือเส้นใต้ แต่ละเส้นต้องเชื่อมต่อกับเส้นอื่นๆ เพื่อให้ Mind Map มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
5. คำควรมีลักษณะเป็น "หน่วย" เปิดทางให้ Mind Map คล่องตัวและ      ยืดหยุ่นได้มากขึ้น
6. ใช้ สี ทั่ว Mind Map เพราะสีช่วยยกระดับความคิด เพลินตา กระตุ้นสมองซีกขวา
7. เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ควรปล่อยให้สมองคิดมีอิสระมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


แบบวิธีการเขียน Mind Map อีกประการหนึ่ง ดังนี้
1.เตรียมกระดาษเปล่าที่ไม่มีเส้นบรรทัดและวางกระดาษภาพแนวนอน
2.วาดภาพสีหรือเขียนคำหรือข้อความที่สื่อหรือแสดงถึงเรื่องจะทำ Mind Map กลาง     หน้ากระดาษ โดยใช้สีอย่างน้อย 3 สี และต้องไม่ตีกรอบด้วยรูปทรงเรขาคณิต
3.คิดถึงหัวเรื่องสำคัญที่เป็นส่วนประกอบของเรื่องที่ทำ Mind Map โดยให้เขียนเป็นคำ ที่มีลักษณะเป็นหน่วย หรือเป็นคำสำคัญ (Key Word) สั้น ๆ ที่มีความหมาย บนเส้น ซึ่งเส้นแต่ละเส้นจะต้องแตกออกมาจากศูนย์กลางไม่ควรเกิน 8 กิ่ง
4.แตกความคิดของหัวเรื่องสำคัญแต่ละเรื่องในข้อ 3 ออกเป็นกิ่ง ๆ หลายกิ่ง โดยเขียนคำหรือวลีบนเส้นที่แตกออกไป ลักษณะของกิ่งควรเอนไม่เกิน 60 องศา
5.แตกความคิดรองลงไปที่เป็นส่วนประกอบของแต่ละกิ่ง ในข้อ 4 โดยเขียนคำหรือวลีเส้นที่แตกออกไป ซึ่งสามารถแตกความคิดออกไปเรื่อยๆ
6.การเขียนคำ ควรเขียนด้วยคำที่เป็นคำสำคัญ (Key Word) หรือคำหลัก หรือเป็นวลีที่มีความหมายชัดเจน
7.คำ วลี สัญลักษณ์ หรือรูปภาพใดที่ต้องการเน้น อาจใช้วิธีการทำให้เด่น เช่น การล้อมกรอบ หรือใส่กล่อง เป็นต้น
8. ตกแต่ง Mind Map ที่เขียนด้วยความสนุกสนานทั้งภาพและแนวคิดที่เชื่อมโยงต่อกัน
การนำไปใช้
1. ใช้ระดมพลังสมอง
2. ใช้นำเสนอข้อมูล
3. ใช้จัดระบบความคิดและช่วยความจำ
4. ใช้วิเคราะห์เนื้อหาหรืองานต่าง ๆ
5. ใช้สรุปหรือสร้างองค์ความรู้
                ปัญหาที่มักพบในการบันทึกความคิดสรุปด้วย Mind Map

ในการบันทึกความคิดสรุปด้วย Mind Map หรือแผนที่ความคิดนั้น ทั้งจากประสบการณ์ของตัวเขียนเอง และคำถามจากผู้ได้ลองปฏิบัติมักคล้ายคลึงกัน พอที่จะสรุปได้ดังนี้
                1. ฟังไม่ทัน
                2. จับประเด็นไม่ถูก แยกไม่ออก ไม่รู้ว่าควรเป็นหมวดใด กลุ่มใด
                3. ไม่รู้ว่าจะวางเรื่องอย่างไร อันไหนควรเป็นเรื่องหลัก เรื่องรองหรือเรื่อง
            ย่อย ๆลงมา
                               
 แนวทางแก้ไข
                 จากประสบการณ์ที่เคยทดลองใช้ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเคยเสนอแนะเทคนิคไว้ พอสรุปทางออกของปัญหาเหล่านี้ได้ดังนี้
1. การทำความเข้าใจภาพรวมใหญ่ทั้งหมดของเรื่องก่อน จะช่วย
   ให้เราเห็นโครงสร้างต่าง ๆ ของเรื่องนั้นชัดเจนขึ้น
2. ผู้บันทึกความคิดต้องมีสมาธิสูง มีความนิ่งมากพอที่จะทำให้จิตใจจดจ่อตั้งมั่นอยู่กับเรื่องที่กำลังฟัง พยายามจับประเด็นให้ได้แก่นหรือหัวใจสำคัญของเรื่องนั้น ๆ แล้วจึงถอดสรุปเป็นคำสั้น ๆ
3. ใช้วิธีสำรวจคร่าว ๆ ในระหว่างที่สมาชิกผู้ร่วมเรียนรู้กำลังระดม
    สมอง คิดดูว่าในแต่ละกลุ่มย่อยนั้น เขามีประเด็นที่คุยกันหลัก ๆ   
    เรื่องอะไรบ้างแล้วบันทึกหัวข้อไว้ในกระดาษ เพื่อใช้เป็นข้อมูลใน
    การวางภาพรวมต่อไป
4. หมั่นฝึกฝนบ่อย ๆ ผู้เขียนสังเกตเห็นเพื่อนร่วมงานภาคประชาชน
    สังคมหลายท่านที่ใช้วิธีการบันทึกแบบ Mind Map เป็นประจำ
    ไม่ว่าประเด็นในการประชุม อบรม สัมมนา แม้กระทั่งการตั้งวงคุย  
    ในเรื่องจิปาถะ ไปจนถึงปิ๊ง แวบ อะไรขึ้นมาได้ แล้วต้องบันทึกไว้
    กันลืม ก็ยังเป็นรูปแบบของแผนที่ความคิด การฝึกบ่อย ๆ จะช่วย 
    ให้เกิดทักษะ มีความชำนาญขึ้นเรื่อย ๆ

          สรุป  Mind Map เป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาคนให้สามารถคิดได้เก่งขึ้น สามารถคิดได้กว้าง เกิดการคิดที่ละเอียดถี่ถ้วน มีความเชื่อมโยง เกิดพลังสมอง คิดสร้างสรรค์ได้มาก โดยเฉพาะเวทีของการระดมความคิด จะเห็นได้ว่าการต่อยอดความคิดของกันและกันอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยให้เกิดการแตกแขนงความคิดออกไปไม่รู้จบ ดังนั้น Mind Map เป็นเรื่องราวของทักษะวิธีการฝึกคิดและฝึกเขียน อันจะนำไปสู่การพัฒนางานที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งต่อไป